วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ประวัติปราสาทปรางค์กู่

     ๑.ปราสาทปรางค์กู่

ชื่อโบราณสถาน                      

     ปราสาทปรางค์กู่

ที่ตั้ง                     

     บ้านกู่   ต.กู่    อ.ปรางค์กู่   จ.ศรีสะเกษ

แผนที่ทหาร       

     มาตราส่วน ๑: ๕๐๐๐๐  เส้นรุ้ง  ๑๔ องศา  ๕๐ ลิปดา ๐๐  ฟิลิปดาตะวันออก

องค์ประกอบโบราณสถาน    

      ๑.ปรางค์ประกอบด้วยปรางค์สามหลัง  ก่อด้วยอิฐและศิลาแลงตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรวมกันในแนวทิศเหนือ – ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
          ๑.๑ปรางค์องค์กลางและองค์ที่อยู่ทางทิศใต้ก่อด้วยอิฐทับเรียบมีทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำจากหินทรายแต่ปัจจุบันไม่ปรากฏทับหลังส่วนเสากรอบประตูก่อด้วยอิฐติดผนังมีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกเพียงดานเดียวส่วนทางอื่นๆเป็นประตูหลอกปรางค์อิฐทั้งสามองค์มีการสลักลวดลายตกแต่งบนเนื้ออิฐ  เช่น  ซุ้มหน้าบันสลักเป็นซุ้มโค้งหยักมียอกแหลมช่วงปลายสลักเป็นรูป เศียรนาค
          ๑.๒ปรางค์ที่อยู่ทางทิศเหนือ  ก่อด้วยศิลาแลงจากฐานถึงซุ้มหน้าบันก่อด้วยอิฐจนถึงส่วนยอด  มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก
     ๒.สระน้ำเป็นสระขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านหน้า

อายุสมัย                

     ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗

ประโยชน์ใช้สอย     

     ศาสนสถาน

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน        

     ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม  ๕๒  ตอนที่  ๗๕  วันที่ ๘ มีนาคม  ๒๔๗๘

การประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน   

     ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม  ๙๙  ตอนที่ ๑๕๕  วันที่ ๒๑ ตุลาคม  ๒๕๒๕   เนื้อที่ประมาณ  ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๓๘ ตารางวา

๒.๑  ที่ตั้ง

     รางค์กู่  เป็นศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร  ตั้งอยู่บริเวณบ้านกู่
ตำบลกู่   อำเภอปรางค์กู่  ยอยู่ห่างจากตัวอำเภอปรางค์กู่ประมาณ ๕ กิโลเมตร  และอยู่ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษประมาณ ๖๕ กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔ องศา ๑๕ , ๕๕”  เหนือและเส้นแวงที่ ๑๐๓  องศา ๕๗, ๔๙”ตะวันออก กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม  ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และกำหนดเขตที่ดินบนสถานเป็นพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๓๘ ตารางวาตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม  ๙๙ ตอนที่ ๑๕๕  วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕
               

.๒ สภาพทั่วไป


     ปรางค์กู่ตั้งอยู่ภายในบ้านกู่ซึ้งมีลักษณะเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก  ส่วนทางทิศเหนือเป็นสระขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด
๓๕๐ x ๗๐๐ เมตร  พื้นที่ภายในเมืองโบราณมีบ้านเรือนอาศัยกันอย่างหนาแน่น  บริเวณรอบนอกเมืองโบราณเป็นทุ่งนา ปลูกข้าว  ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ
๙๐๐เมตร  เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์กู่โดยอยู่ห่างจากสระดังกล่าวประมาณ ๒๐๐ เมตร                         

๒.๓  ความเป็นมาของการดำเนินงาน

     จากผลการสำรวจโบราณสถานในเขตรับผิดชอบของหน่วยศิลปกรที่ ๖ พบว่าปราสาทปรางค์กู่เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและน่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษมีสภาพพังทลาย ดินทับถมอยู่ทั่วไป  โดยยังไม่ได้รับการขุดแต่งหรือค้ำยันประการใด รวมทั้งพบโบราณวัตถุประติมากรรมติดที่ ทับหลังเสาประดับกรอบประตูอยู่ในลักษณะสะดวกต่อการลักขโมย
     อย่างไรก็ดี ทางอำเภอปรางค์กู่ ได้ให้ความสนใจต่อโบราณสถานดังกล่าวโดยให้ทำหนังสือร้องขอให้หน่อยศิลปากรที่ ๖ เข้าดำเนินการขุดแต่งบูรณะปรางค์กู่ให้ด้วย เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ของอำเภอและจังหวัดต่อไป

๒.๔  วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน

     ๒.๔.๑  เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมอิทธิพลเขมรที่มีต่อประเทศไทย
     ๒.๔.๒  เพื่อป้องกันการพังทลายของโบราณสถานและส่งเสริมความมั่นคงด้วยการค้ำยืน
     ๒.๔.๓  เพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตโบราณสถาน
     ๒.๔.๔  เพื่อการสงวนรักษาโบราณสถานและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ดีงามและถูกต้องให้กับประชาชนทั่วไป

     ๒.๔.๕  เพื่อการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล

๒.๕ แนวทางในการดำเนินงาน

     การดำเนินการขุดแต่งและค้ำยันโบราณสถานปรางค์กู่มีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้
     ๒.๕.๑  ถ่ายภาพ  ทำแผนผัง  พร้อมบันทึกสภาพโบราณสถานก่อนการขุดแต่งและค้ำ
     ๒.๕.๒  ทำความสะอาดตัวปรางค์ทั้งสามองค์และกำจัดวัชพืช
     ๒.๕.๓  ขุดตรวจชั้นดินและการวางรากฐานโบราณสถานเพื่อรักษาระดับในการขุดแต่งโดยรอบและเพื่อเก็บข้อมูลทางโบราณคดีพร้อมถ่ายภาพและบันทึกผลการขุดแต่งแต่ละด้านจนกระทั้งเสร็จสิ้น
     ๒.๕.๔  ถ่ายภาพ  ทำแผนผังและบันทึกสภาพโบราณสถานภายหลังการขุดแต่ง
     ๒.๕.๕  ทำการค้ำยัน  เสริมความมั่นคงให้กับโบราณสถาน เพื่อการบูรณะในระยะต่อไป     
     ๒.๕.๖  ทำเสนอรายงานการขุดแต่งทางวิชาการ  พร้อมทั้งตั้งแนวทางการปฏิบัติต่อโบราณสถานเพื่อป้องกันการพังทลายก่อนที่จะได้รับการบูรณะ

การวางผังการขุดแต่ง

     ปรางค์กู่ประกอบด้วยปรางค์ก่ออิฐและศิลาแลง ๓ หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้  ขนาดของฐานปรางค์กว้างยาว  ๙ x ๒๔ เมตร  จึงวางผังหลุมขุดแต่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคลุมพื้นที่โบราณสถานทั้งหมดขนาด ๒๔ x ๓๐ เมตร   โดยใช้มุมฐานศิลาแลงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้  เป็นจุดกำหนดตายตัว  ( O  FIXEN  POINT )  จากจุดนี้ได้วางเส้นแกนสมมุติมาตรฐาน ( BASE  LINE )  ในแนวทิศเหนือ-ใต้ แบ่งเส้นแกนออกเป็นระยะๆละ ๖ เมตร  กำหนดเป็นตัวเลข ๑,๒,๓...,๕    และเส้นแกนในแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก  เป็นเส้นแกนออกเป็นระยะๆ ละ ๖ เมตร  เช่นเดียวกัน  ได้กำหนดเป็นตัวอักษร A,B,CและD ตามลำดับ
     สำหรับวิธีดำเนินการขุดแต่งนั้น  เริ่มจากการขุดตรวจชั้นดิน  บริเวณที่ A๓ ขนาด ๑ x ๒ เมตรเพื่อหาแนวฐานโบราณสถานและศึกษาชั้นดินการก่อสร้างโบราณสถานหลังจากนี้  จึงขุดแต่งตามระดับที่ขุดตรวจไว้ในพื้นที่อื่นๆรอบโบราณสถาน

ระยะเวลาในการปฏิบัติงานและงบประมาณ

     เนื่องจากโบราณสถานตั้งอยู่ในเขตอำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งมีระยะห่างจากหน่วยศิลปากรที่ ๖  พิมาย ประมาณ ๒๘๐ กิโลเมตร  ทำให้ต้องจ้าวแรงงานท้องถิ่นโดยความควบคุมของนักโบราณคดีและนายช่างโยธา ใช้เวลาในการดำเนินการขุดแต่งและค้ำยันโบราณสถาน  ประมาณ ๖๐ วัน ด้วยเงินงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท

๒.๖  สภาพโบราณสถานของการขุดแต่ง

     ปรางค์กู่เป็นโบราณสถานอิทธิพลศิลปกรรมเขมร  ตั้งอยู่บนที่เนินสูงกว่าพื้นที่โยรอบซึ่งเป็นทุ่งนาเพาะปลูกข้าว  พื้นที่ที่มีความลาดเอียงไปทางสระใหญ่ที่อยู่ทางด้านตะวันออก  บริเวณกึ่งกลางของพื้นที่เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์กู่ซึ่งประกอบด้วยปราสาท  ๓  หลัง  ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน  มีสภาพดังนี้ คือ  ปราสาทอิฐหลังทิศใต้มีสภาพทรุดเอียงไปทางทิศตะวันตก  มีเรือนภาพและส่วนยอด่อนข้างสมบูรณ์กว่าหลังอื่นๆ มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก กรอบประตูและเลาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย  ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐขัดเรียบ  มีประตูหลอกอยู่ ๓ ด้าน และปรากฏรอยร้าวทั้งสองข้างของกรอบประตู  ส่วนด้านหน้าและด้านทิศใต้มีต้นมะค่าขนาดใหญ่ขึ้นแทรกอยู่บนฐานศิลาแลง  ส่วนด้านอื่นถูกทับถมด้วยกองอิฐ  โดยเฉพาะพื้นที่ระหว่างปราสาทอิฐหลังกลาง  มีกองอิฐทับถมถึงกึ่งกลางประตูหลอก
     ปราสาทอิฐหลังกลางมีการพังทลายของส่วนยอดถึงเรือนธาตุโดยเฉพาะเหนือกรอบประตูด้านหน้าซึ่งหักพังลงเช่นใด  รวมทั้งมีต้นไม้และวัชพืชขึ้นอยู่ทั่วไปรวมทั้งมีการทับถมของดินจนท่วมฐานปราสาทซึ่งก่อด้วยอิฐขัดเรียบ  กรอบประตูสลักเลียนแบบเครื่องไม้  สภาพของปราสาทองค์กลางมีการพังทลายชำรุดมากกว่าปราสาทองค์อื่นๆ  และมีทางเข้าทางทิศตะวันออกเพียงทางเดียวอีก ๓ ด้านนั้นทำประตูหลอก  บริเวณเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือสลักเป็นซุ้มหน้าบันลงไปในเนื้ออิฐทีเดียว
     ปราสาทอิฐหลังทิศเหนืออิฐเป็นปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงถึงครึ่งหลัง  ส่วนตั้งแต่กลางองค์เรือนธาตุขึ้นไป  ทางเข้าที่สำคัญอยู่ทางทิศตะวันออกเพียงทางเดียวที่เหลืออีกสามด้านเป็นประตูหลอก  ตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงโดยมูลดินทับถมบางส่วนและวัชพืชขึ้นอยู่ทั่วไป  ส่วนยอดปรางค์นั้นพังทลายลงไปบ้าง
     สภาพทั่วไปโดยรอบปราสาทปรางค์กู่นั้นมีคูน้ำคั้นดินล้อมเกือบรอบโดยเว้นทางทางด้านเข้าด้านทิศตะวันออกและตะวันตก  สภาพคูน้ำในปัจจุบันยังสามารถเห็นได้ชัดเจนมีบางส่วน  เช่นคูน้ำด้านทิศใต้สภาพตื้นเขิน  ถัดจากคูน้ำคันดินออกมาเป็นพื้นที่ทำนาของชาวบ้านของหมู่บ้านกู่ซึ่งอยู่ห่างจากปรางค์กู่มาจากทางทิศตะวันตก ประมาณ  ๙๐๐ เมตร  ส่วนด้านทิศเหนือห่างจากปราสาท ประมาณ ๒๐๐ เมตร  มีสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นสระน้ำโบราณเรียกว่า บาราย  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญคู่กับโบราณสถาน   มีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทเมืองต่ำ  อำเภอประโคนชัย  จังหวัดบุรีรัมย์
     จากหนังสือทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักรซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ นั้น ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปรางค์กู่แห่งนี้รวมทั้งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ  ดังนี้
                                                                              

ปราสาทบ้านกู่  ก่อด้วยหินปนอิฐ ๓  หลัง

     หลังที่  ๑  รูป ๑๘ เหลี่ยมมีประตู ๑ ประตู ตามฝาผนังประตูจำหลักเป็นพระพุทธรูปและคน ๔๘ รูป (ฝาผนังประตู หมายถึง ส่วนทับหลัง)
     หลังที่  ๒  ก่อด้วยหินปนอิฐรูป ๑๖ เหลี่ยม ที่ฝาผนังประตูจำหลักเป็นรูปคนขี่ช้างมีราหู(หน้ากาลหรือเกียรติมุข-ผู้เขียน)อยู่ใต้หลังช้างมีรูปคนเป็นบริวารแห่หน้าหลัง
     หลังที่  ๓  ก่อด้วยหินปนอิฐรูป ๑๔  เหลี่ยมที่บานประตูจำหลักเป็นรูปนาค ๒ เศียร  และมีรูปสิงห์คาบนาคอยู่สองข้าง  มีรูปคนยืนอยู่ข้างสิงห์ข้างละ ๔ คน
     หมายเหตุ  ทับหลังประตูทางทิศตะวันออก  ทับหลังประตูและส่วนประกอบต่างๆทำด้วยศิลาจำหลักลาย  ทับหลังประตูปรางค์องค์ทิศใต้จำหลักเป็นรูปพระนารายณ์สี่กรทรงครุฑยืนเหยียบหลังสิงห์ ๒ ตัว  สิงห์นั้นปากคาบพวงมาลัยทำเป็นหน้าเหราคาบนาคราชทับหลังประตูกลางองค์จำหลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณยืนอยู่บนแท่นเหนือเศียรเกียรติมุขมีท่อนพวงมาลัยก้านขดและรูปเทพรำประกอบทับหลังประตูปรางค์องค์เหนือจำหลักเป็นรูปพระลักษมณ์ถูกศรนาคบาด  เสาริมกรอบประตูจำหลักเป็นประติมากรรมยืน

สภาพภายหลังการขุดแต่ง

     เนื่องจากสถานโบราณแต่เดิมนั้นมีมูลดินถมจนท่วมฐานเมื่อทำการขุดลอกมุมดินออกทำให้สามารถเห็นปรางค์ได้อย่างชัดเจน  รวมทั้งพบว่ามีเศษอิฐปะปนกับพื้นดินเป็นจำนวนมากและยังพบโบราณวัตถุร่วมด้วยช่วยกัน 

สภาพปรางค์องค์กลางภายหลังการขุดแต่ง

     ส่วนยอดปรางค์พังทลายจนถึงองค์เรือนธาตุและกรอบประตูหินทราบ  ด้านหน้าส่วนผนังด้านทิศเหนือกรอบประตูนั้นมีรอยร้าวของอิฐซึ่งต่อมาได้ดำเนินการค้ำยันเพื่อป้องกันการพังทลายของโบราณสถาน  รอมทั้งรอยร้าวบริเวณมุมปรางค์ด้านหลังอีกด้วย
     บริเวณฐานด้านหน้าของปรางค์องค์กลาง  มีลักษณะเป็นมุขยื่นออกมาจากฐานศิลาแลงประมาณ ๑.๗๐ เมตร ตัวมุมกว้าง ประมาณ ๑.๘๕ เมตร โดยมีช่องบันไดทางขึ้นกว้าง๑.๘๕ เมตร และรอยแยกระหว่างช่องบันไดกับมุขด้านข้าง  บันไดทางขึ้นนี้มี ๕ ขั้น แล้วจึงขึ้นสู่ชาลารอบปราสาทและตัวฐานชั้นบนซึ่งรองรับองค์ปรางค์เป็นฐานศิลาแลงย่อมุมฐานรับกับชั้นล่างโดยมีมุขยื่นออกจากองค์กลางประมาณ็นหน้าเหรหหหหนนนนขนจจรรบยยบบบบบบ  ๑  เมตร กว้าง  ๓.๖๔  เมตร  และมีช่องบันใดทางขึ้นสู่ภายในองค์ปรางค์
     ลักษณะขององค์ปรางค์  ก่อด้วยอิฐขัดเรียบย่อมุมล้อฐานรองรับ  มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกส่วนอีก  ๓  ด้าน  ทำเป็นประตูหลอก  ซึ่งแบ่งประตูออกเป็น  ๒  ช่อง  ลดชั้นอิฐลงให้ลึกเล็กน้อยโดยมีสันกลางเป็นตัวแบ่ง  นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า  ประตูหลอกด้านทิศเหนือของปรางค์องค์กลางมีเสากรอบประตูเป็นเสาก่ออิฐติดผนังซึ่งยังมิได้สลักบัวหัวเสาเหนือกรอบประตูหลอกด้านทิศเหนือมีร่องรอยของการสลักซุ้มหน้าบันลงในอิฐ  (  คล้ายกับที่ปราสาทยายเหงา  จังหวัดสุรินทร์  และ  ปราสาทเมืองต่ำ  จังหวัดบุรีรัมย์  )  เป็นซุ้มโค้งหยักมียอดแหลมช่วงปลายซุ้มหน้าบันสลักเป็นเศียรนาค  รายละเอียดของประตูหลอกด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของปรางค์องค์กลางนี้  พบว่ายังมิได้สลักบัวหัวเสา  ซึ่งแตกต่างจากประตูหลอกของปรางค์องค์ทิศใต้ซึ่งช่างได้สลักบัวหัวเสาเสร็จแล้ว
     อย่างไรก็ดี  ด้านหลังของปรางค์หรือด้านทิศตะวันตกนั้น  พบว่าฐานศิลาแลงมีมุขยื่นพร้อมทั้งมีบันใดทางขึ้นสู่ชาลาชั้นบนเช่นเดียวกับด้านทิศตะวันออก
     แต่เดิมนั้น  ปรางค์องค์กลางมีทับหลังประดับอยู่เหนือกรอบประตูด้านทิศตะวันออกด้วย  ปัจจุบันทับหลังดังกล่าวเก็บรักษาไว้  ณ  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย  เป็นทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั่นเอง  ส่วนกรอบประตูที่ทำด้วยหินทรายสลักเลียนแบบเครื่องไม้นั้นยังคงอยู่กับองค์ปรางค์โดยไม่พบเสาประดับกรอบประตูปรางค์องค์นี้เลย

สภาพปรางค์หลังทิศใต้ภายหลังการขุดแต่ง

     ปรากฏลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์มากกว่าปรางค์หลังกลางและหลังทิศเหนือ  มีเพียงส่วนยอดเท่านั้นที่  พังทลายบ้าง
     องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันกับอีก  ๒  องค์  โดยไม่ปรากฏบันไดทางขึ้นด้านหน้าแต่อย่างใด  (  เพราะโบราณสถานแห่งนี้มีทางขึ้นบริเวณเดียว  ด้านหน้าและด้านหลังของปรางค์องค์กลาง  )  ส่วนฐานชั้นบนที่รองรับฐานองค์ปรางค์นั้นทำเป็นมุขยื่นมีช่องบันได  เข้าสู่ภายในตัวปรางค์ได้
     ลักษณะทางสถาปัตยกรรม  เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ  มีกรอบประตูเป็นหินทรายสภาพปัจจุบันยังมีชิ้นส่วนเสาประดับกรอบประตูติดอยู่ด้วย  (  ลักษณะลวดลายของเสาประดับด้วยกรอบประตูคล้ายคลึงกับเสาประดับกรอบประตูปราสาทหินพิมาย  )  รวมทั้งมีรอยร้าวของโบราณสถานบริเวณข้างเสาประดับกรอบประตูของประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก  ส่วนอีก  ๓  ด้านเป็นประตูหลอกมีเสากรอบประตูก่ออิฐและสลักบัวหัวเสารองรับหน้าบันซึ่งสลักไม่เสร็จ
     แต่เดิม  ปรางค์องค์ทิศใต้นี้มีทับหลังจำหลักเป็นรูปพระนารายณ์  ๔  กร  ทรงครุฑและยืนเหยียบอยู่หลังสิงห์  ๒  ตัว  สิงห์นี้ปากดาบลำพวงมาลัย  ทำเป็นหน้าเหราคาบนาคราช  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

สภาพปรางค์หลังทิศเหนือภายหลังการขุดแต่ง

     ปรางค์หลังทิศเหนือมีลักษณะแตกต่างไปจากปรางค์อีก  ๒  องค์  เนื่องจากก่อด้วยศิลาแลงขึ้นไปจนถึงกลางองค์  จากนั้นจึงก่ออิฐต่อจนถึงส่วนยอดตัวปรางค์ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน  และใช้บันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกของปรางค์องค์กลาง
     ส่วนประตูทางเข้าของปรางค์อยู่ทางด้านทิศตะวันออก  มีกรอบประตูทำด้วยหินทราย  อีก  ๓  ด้าน  เป็นประตูหลอก  สลักเป็นช่องประตูลงไปในเนื้อศิลาแลง  ส่วนยอดปรางค์นั้นพังทลายลง  และมีรอยร้าวแนวยาวทางด้านข้างกรอบประตู  ทางทิศเหนือองค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงร่วมกันโดยไม่มีมุขยื่น  ส่วนฐานศิลาแลงชั้นบนทำเป็นมุขยื่นออกจากตัวปรางค์เล็กน้อย  โดยเว้นช่องบันไดทางขึ้นเข้าสู่องค์ปรางค์
     อย่างไรก็ดี  มีรอยการก่ออิฐเล็กน้อยอยู่บริเวณด้านข้างกรอบประตูและที่เชิงฐานปรางค์  แกะสลักเป็นชั้นบัวโดยรอบ  ตัวโบราณสถานอยู่ในสถานที่สามารถศึกษาโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมได้  ซึ่งแต่เดิมนั้นมีเหนือประตูทางเข้า  จำหลักเป็นภาพพระลักษณ์ถูกศรนาคบาศ

วัสดุและเทคนิคที่ใช้ในการก่อสร้าง

     บรรดาโบราณสถานในประเทศกัมพูชานั้น  เราสามารถศึกษาเปรียบเทียบอายุสมัยของโบราณสถานได้โดยศึกษาจากการใช้วัสดุในการก่อสร้างว่าโบราณสถานในสมัยแรกของศิลปะเขมรจะก่อสร้างด้วยอิฐ  ต่อๆมาจึงก่อสร้างโดยศิลาแลง  แต่อย่างไรก็ตาม  สำหรับโบราณสถานอิทธิพลศิลปะเขมร  ที่ปรากฏในดินแดนประเทศไทยนั้น  เราไม่สามารถจัดลำดับอายุจากการใช้วัสดุก่อสร้าง  เนื่องจากโบราณสถานบางแห่งที่สร้างด้วยหินทราย  มีอายุเก่ากว่าโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ  เช่น  ที่ปราสาทโน้นกู่  ปราสาทเมืองแขก  อำเภอสูงเนิน  จังหวัดนครราชสีมา  เป็นโบราณสถานที่สร้างด้วยหินทราย  แต่มีอายุเก่ากว่า  ปราสาทยายเหมา  จังหวัดสุรินทร์  และปราสาทปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ  เป็นต้น
     สำหรับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งอิฐ  ศิลาแลง  และศิลาทรายนั้น  พบว่าโบราณสถานอิทธิพลเขมรที่พบในประเทศไทยหลายแห่งใช้วัสดุปนกัน  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งวัสดุว่าอยู่ใกล้  ไกลมากน้อยเพียงไร  หรือในทางตรงข้ามถึงแม่ว่าแหล่งวัสดุจะอยู่ไกลจากที่ตั้งโบราณสถาน  แต่ว่ามีแรงงานที่มากเพียงพอและมีเทคนิคในการขนย้ายวัสดุโดยเฉพาะประเภทศิลาทรายซึ่งต้องได้ทั้งแรงงานคน  สัตว์  เครื่องมือและพาหนะขนย้ายที่แข็งแรง
     โบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ  ทั้งที่ปรางค์ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่จะมีศิลาทรายเป็นส่วนประกอบบริเวณ  กรอบประตู  หรือทับหลังหรือยอดปรางสารทเพื่อแกะสลักลวดลายตามความเชื่อ  ความศรัทธาของชุมชนในแต่ละสมัย  มักก่อสร้างด้วยศิลาทรายโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชนมีผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น  มีผู้ชำนาญการพิเศษ ( Specialist )  รวมทั้งช่างฝีมือตั้งแต่ระดับต้น ๆ  จนถึงช่างฝีมือชั้นสูงและแรงงานที่ใช้สร้างโบราณสถานต้องมีอย่างเพียงพอ  เช่น  ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง  จังหวัดบุรีรัมย์  ปราสาทหินพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา  เป็นต้น
     ปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  จัดเป็นศาสนสถานขนาดกลางที่มีการใช้วัสดุก่อสร้างปนกัน  คือ  อิฐ  ศิลาแลง  และศิลาทราย  ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
     อิฐ  เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับสร้างปรางค์กู่องค์กลางและองค์ทิศใต้เป็นอิฐเผาสุกนำเรียงมาติดกัน  ลักษณะอิฐถูกขัดจนเรียบ  เมื่อนำมาเรียงต่อกันจึงดูแบบสนิทโดยไม่มีการสอน  นักวิชาการหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า   คงมีการใช้น้ำยาบ้างชนิด  ซึ่งอาจทำมาจากยางไม้  มีความเหนียวเหมือนกาวใช้มาทำผิวหน้าของอิฐและนำไปวางติดกันจนสนิทอย่างไรก็ตาม  ได้มีนักวิชาการคือ  ปาร์มองติ  แอร์  แย้งว่า  ใช้ดินเป็นตัวประสาน  ( อนุวิทย์  เจริญศุภกุล,๒๕๒๔ )  และบวส  เซอร์ลิเยร์  ซึ่งการสอนแบบนี้ใช้กันในเวียดนามและอินเดียในสมัยเดียวกันนี้
     ศิลาแลง  ศิลาแลงเป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่มีองค์ประกอบระหว่างแร่เหล็กกับดินจับตัวกันเป็นโครงสร้างหยาบๆแต่แข่งแกร่ง  มีเนื้อออกสีน้ำตาล  น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้มแบบสีสนิมเหล็ก  บริเวณที่พบศิลาแลงนั้นจะอยู่ใต้ผิวดินลงไป  ดังนั้นการนำศิลาแลงมาใช้จึงต้องขุดลงไปในดิน  คุณสมบัติของศิลาแลงก็คือ  เมื่อขุดขึ้นมาใหม่ๆนั้นจะไม่แข็งตัวทันทีสามารถตัดเป็นก่อนหรือรูปต่างๆได้ตามต้องการ  เนื่องจากยังมีความชื้นหรือน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มาก  เมื่อทิ้งไว้นานๆความชื้นระเหยออก  ศิลาแลงนั้นจะแข็งตัว  และมีรูพรุนอยู่ทั่วไป  แต่ยังให้ความคงทนแข็งแรง
     ศิลาแลงที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างปราสาทปรางค์กู่  อำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  ใช้สำหรับก่อส่วนฐานทั้งหมดรวมทั้งสร้างปรางค์องค์ทิศเหนือซึ่งมีอิฐก่อปะปนอยู่ด้านบนด้วย  สาเหตุที่ใช้ศิลาแลงเป็นฐานนั้น  เนื่องจากคุณสมบัติ  ที่คงทนแข็งแรง  หาได้ง่ายในท้องถิ่น  นอกจากนี้ศิลาแลงยังมีปฏิกิริยากับน้ำ  อากาศหรือวัชพืชไม่รวดเร็วเท่ากับอิฐเนื่องจากตัวมันเองผ่านปฏิกิริยาดังกล่าวมาแล้ว  ขณะรวมตัวกันเป็นโครงสร้างอยู่ใต้ดินนั้นเอง  แต่อย่างไรก็ดีศิลาแลงจะมีปฏิกิริยารวดเร็วกับโซเดียมคลอไรด์  ( เกลือแกง )  ซึ่งทำให้เกิดการผุกร่อนได้ง่าย  เช่นที่ปราสาทปรางค์กู่  อำเภอปรางค์กู่  อำเภอธวัชบุรี  จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นต้น
     วิธีการก่อสร้างศาสนสถานด้วยศิลาแลงทั้งที่ปราสาทปรางค์กู่  อำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  และในที่อื่นๆนั้นทำโดยตัดก่อนศิลาแลงให้ได้ขนาดตามต้องการ  จากนั้นจึงก่อเรียงกันขึ้นไปก้อนต่อก้อนโดยไม่ใช้เหล็กยึด  ( แตกต่างจากศาสนสถานที่สร้างด้วยศิลาทรายซึ่งใช้เหล็กรูปต่างๆยึดระหว่างก้อน )  ส่วนการสลักลวดลายนั้น  ศิลาแลงมีขีดจำกัดมากกว่าศิลาทราย  คือ  สลักได้เพียงลวดลายที่ไม่ละเอียดมากนัก  เช่น  ลายบัวที่เชิงฐาน
     อย่างไรก็ดี  แม้ว่าศิลาแลงที่ใช้ในการก่อสร้างจะมีความคงทนแข็งแรงก็ตาม  แต่เนื่องจากโครงสร้างที่มีรูพรุนมากทำให้เกิดรอยร้าวได้ง่าย  เมื่อเกิดรอยร้าวขึ้นหลายๆก้อนเป็นเหตุให้รับน้ำหนักได้น้อย  มีการทรุดตัวแยกตัวออกจากกันเป็นลำดับ  จนกระทั่งพังทลายลงนั่นเอง  แต่ที่ปราสาทปรางค์กู่แห่งนี้นับว่ามีการทรุดตัวไม่มากนัก  เนื่องจากมีฐานรองรับที่แข็งแรงประกอบกับครึ่งหนึ่งของฐานองค์ทิศเหนือใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้าง  ทำให้มีน้ำหนักไม่มากเท่ากับเป็นศิลาแลงทั้งองค์  ถึงกระนั้นก็ยังมีรอยร้าวเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
     ศิลาทราย  จัดเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีความแข็งแรงทนทานมากที่สุดในบรรดาที่กล่าวมา  รวมถึงมีความยากลำบากในการตัดต่อและการเคลื่อนย้ายเพราะต้องใช้แรงงานและเครื่องมือจำนวนมากนั่นเอง  ดังนั้น การก่อสร้างหลายๆแห่งที่ห่างไกลจากแหล่งวัสดุ  คือ ภูเขาหินทราย  จึงทำให้ต้องใช้วัสดุอย่างประหยัดและใช้ในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น  ดังเช่น  ที่ปราสาทปรางค์กู่แห่งนี้  ซึ่งใช้หินทรายประกอบบริเวณกรอบประตู  ทับหลังและเสาประดับกรอบประตู  เพราะเป็นส่วนที่ต้องการแกะสลักลวดลาย  และเป็นประตูทางเข้ารวมทั้งใช้ประโยชน์ ในการรับน้ำหนักวัสดุด้านบนที่กดทับลงมาอีกด้วย
     นอกจากวัสดุก่อสร้างประเภทอิฐ  ศิลาแลงและศิลาทราย  ที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาทปรางค์กู่แล้ว  เหลือเพียงร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมมีไม้อยู่ด้วย  นอกจากนี้ยังศึกษาเปรียบเทียบกับโบราณสถานซึ่งมีอิทธิพลเขมร  และยังปรากฏหลักฐานอยู่ด้วยถึงแม้จะผุพังไปบางส่วน  สำหรับที่ปราสาทปรางค์กู่  อำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  นี่ใช่ไม้เป็นส่วนประกอบบริเวณคานด้านในปราสาท

เทคนิคที่ใช้ในการก่อสร้าง

     การก่อสร้างศาสนสถานทั้งในประเทศกัมพูชา  และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนั้น  กล่าวได้ว่าใช้เทคนิคเดียวกัน  เนื่องจากดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรม  ศิลปกรรม  และงานช่างฝีมือมาจากกัมพูชาโดยตรงเป็นเวลานาน  รวมทั้งมีช่างจากกัมพูชา  เข้ามาก่อสร้างหรือออกแบบอีกด้วย  สำหรับเทคนิคในการก่อสร้างนั้น   แบ่งตามประเภทของวัสดุที่ใช้ก่อสร้างได้ดังนี้  คือ

อิฐ

     ในประเทศกัมพูชานั้น  สถาปัตยกรรมในสมัยแรกๆใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้าง  แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนั้น  ไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนเช่นนั้น  รูปทรงของโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐมีรูปทรงที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือคล้ายกันกับโบราณสถานที่สร้างด้วยศิลาแลง  คือ  มีกรอบประตู  เสาประดับกรอบประตู  เสาประดับผนังมีลายบัวเชิงบัวหัวเสาเช่นกัน  เว้นแต่ว่ากรอบประตูของปรางค์อิฐและเสาประดับกรอบประตูนั้นใช้ศิลาทรายประกอบ  นอกจากนี้การย่อมุมที่ฐานด้วย  การก่อสร้างขึ้นไปเป็นอาคารนี้  รูปทรงของตัวอาคารจึงเป็นตัวบังคับ  ดังนั้น  อิฐที่ใช้ก่อจึงต้องมีหลายขนาด  และหลายรูปทรง  เพื่อประกอบในส่วนต่างๆกัน  สำหรับอิฐที่มีก้อนขนาดเล็กที่สุดนั้น  คงใช้สำหรับแซมส่วนของผนังที่บังคับความยาวให้เท่ากันหมด  เช่น  บริเวณที่ถูกย่อมุมจะมีอิฐก้อนเล็กๆแซมอยู่ในระหว่างแถวมากที่สุด  รวมทั้งบริเวณที่เป็นประตูหลอกเหนือประตูปลอมด้วย
     การเรียงอิฐนั้น  ช่างได้วิธีเรียงอิฐเป็นแถวเรียงกันซ้อนขึ้นไป  แต่เนื่องจากผนังของตัวอาคารนั้นมีความหนาค่อนข้างมาก  เพราะจะต้องใช้เป็นตัวรองรับน้ำหนักชั้นหลังคาอีกต่อหนึ่ง    การเรียงอิฐส่วนที่เป็นผนังของอาคารนี้  นิยมเรียงในแนวขวางมากกว่าแนวยาว  แต่บางครั้งก็เรียงตามแนวยาวสลับกันไปบ้างเหมืนกัน  เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าการเรียงอิฐตามยาวแต่เพียงอย่างเดียว
     ถึงแม้ว่าจะเรียงอิฐเป็นรูปอาคารขึ้นไปแล้ว  เข้าใจว่าผนังหรือผิวอิฐที่เรียงอาจยังไม่เสมอกันดีนักจึงเป็นไปได้ที่หลังจากเรียงอิฐเสร็จส้นแล้วมีการขัดแต่งผิวให้เสมอกัน  โดยสามารถสังเกตได้จากผิวอิฐที่ราบเรียบสม่ำเสมออย่างชัดเจน

ศิลาทรายและศิลาแลง

     โดยทั่วไปแล้ว  เทคนิคการก่อศิลาทรายและศิลาแลงใช้เทคนิคเดียวกัน  คือ  วัสดุดังกล่าวจะถูกตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมตามขนาดต่างๆ กัน  แล้ววางซ้อนกันขึ้นไปโดยให้น้ำหนักตัวของมันเองกดทับลงไป  และรอยต่อของศิลาทรายในแต่ละชั้นมักจะวางให้เหลี่ยมไม่ตรงกันเพราะจะช่วยให้น้ำหนักที่กดทับลงไปยึดกันไว้ทำให้เกิดความสมดุลขึ้นและเป็นการป้องกันไม่ให้พังลงได้ง่ายอีกด้วย  การวางศิลาทรายต่อกันนี้จะมีเหล็กรูปตัวไอวางในแนวนอนเพื่อยึดระหว่างก้อนอีกด้วย

.๗ การค้ำยันโบราณสถานปราสาทปรางค์กู่

     โบราณสถานจำนวนหลายแห่งในประเทศไทยที่มีสภาพชำรุดเสื่อมโทรม  บางแห่งพังทลายลงเป็นเพียงเนินดิน  บางแห่งก็สามารถชะลอการพังทลายได้  และอีกหลายแห่งได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงไปแล้วด้วยเช่นกัน  ส่วนสาเหตุการชำรุดของโบราณสถานนั้นมีปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกัน  ทั้งจากมนุษย์ทำลายด้วยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุจากสัตว์  เช่น  มด  ปลวก  ที่อาศัยอยู่ในดิน  ทำให้ดินร่วนซุย  โบราณสถานจึงทรุดตัว  นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านภูมิอากาศ  เช่น  ลม  ฝน  แดด  รวมทั้ง  วัชพืช  ก็เป็นตัวเร่งทำลายโบราณสถานเช่นเดียวกันการเสื่อมคุณภาพของตัวเองด้วย
     โบราณสถานปราสาทปรางค์กู่  ปัจจุบันมีสภาพชุรุดในหลายๆสวน  จากสาเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้นประกอบกัน  ดังนั้น  เพื่อเป็นการป้องกันการพังทลายของโบราณสถานจึงทำการค้ำยันเพื่อการดำเนินงานบูรณะในโอกาสต่อไป

การค้ำยัน 

     การค้ำยันโบราณสถานปรางค์กู่นั้น  ทำบริเวณปรางค์องค์กลางโดยใช้ไม้ตีค้ำส่วนด้านหน้ามุมทิศเหนือเนื่องจากแนวอิฐแยกตัวออกจากองค์ปรางค์และอยู่ในสภาพชำรุดมากเนื่องจากนี้ยังได้ป้องกันการพังทลายของปรางค์องค์กลางโดยการใช้ลวดสลิงรัดรอบเพื่อป้องกันมิให้โบราณสถานแยกตัวมากขึ้นกว่าเดิม  ส่วนปรางค์หลังทิศเหนือและหลังทิศใต้มีสภาพดีจึงไม่ได้ทำการค้ำยังแต่อย่างใด

ประโยชน์ของการค้ำยัน

     ๑.เพื่อป้องกันการพังทลายและชะลอการชำรุดของตัวโบราณสถาน
     ๒.เป็นการดำเนินงานที่ใช้งบประมาณน้อย  ก่อนที่จะใช้งบประมาณมากๆในหารบูรณะ  เสริมความมั่นคง
     ๓.เพื่ออปรับปรุงสภาพโบราณสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีความน่าดูมากยิ่งขึ้น
                  

การกำหนดอายุ

     การกำหนดอายุโบราณสถานอิทฺธิพลศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทยนั้นต้องอาศัยการศึกษาที่รอบคอบ  ด้วยเหตุที่โบราณสถานอิทธิพลเขมรหลายๆแห่งก่อสร้างขึ้นโดยชาวพื้นเมืองที่พัฒนารูปแบบขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของศิลปกรรมเขมร  ดั้งนั้นการศึกษาและกำหนดอายุที่ถูกต้องนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังนี้  คือ
     ๑.     ศึกษาเปรียบเทียบ  กับศิลปะในประเทศเขมร
     ๒.   ศึกษารายละเอียดของความเป็นฝีมือช่างพื้นเมือง
     ๓.    ศึกษาเปรียบเทียบกับโบราณสถานที่พบ  ในแห่งอื่นๆ เพื่อลำดับวิวัฒนาการและอายุสมัยการ         ก่อสร้างอย่างไรก็ตาม  การกำหนดอายุโบราณสถานตามข้อที่ ๑. นั้น จัดว่ามีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากโบราณสถานในประเทศเขมรมีลำดับอายูสมัยที่ค่อนข้างแน่นอน  มีรูปแบบที่ชัดเจน  มีแผนผังที่ถูกกำหนดขึ้นแตกต่างกันตามสมัยศิลปะ  รวมทั้งมีจารึกบ่งบอกศักราชที่สัมพันธ์กับ           โบราณสถานและที่สำคัญอีกก็ คือ การสร้างงานแกะสลัก  งานประติมากรรมต่างๆ นั้นมีวิวัฒนาการที่สามารถลำดับอายุได้อีกทางหนึ่ง  เช่น  ลวดลายทับหลัง  หน้าบัน  เสาประดับกรอบ             ประตูเสาประตับผนัง  ภาพสลักนูนสูงนูนต่ำ  เป็นต้น  ซึ่งมีนักปราชญ์นำมาเป็นตำราเรียนทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

( History  of  Arts  ) โยแบ่งออกเป็น ๔ สมัยใหญ่ๆ และศิลปะอีก ๑๔ แบบ ( สุภัทรดิศกุล,ศจ,มจ, ๒๕๑๐)  ดังมีรายละเอียด คือ

สมัยที่ ๑   สมัยก่อนสร้างเมืองพระนคร   แบ่งลักษณะศิลปะเป็น ๔ แบบ  คือ

     ๑.      ศิลปะแบบพนมดา ( รู้จักเพียงประติมากรรม ) ราว พ.ศ. ๑๐๙๐ – ๑๑๕๐
     ๒.    ศิลปะแบบสมัยโบร์ไพรกุก  หลัง  พ.ศ. ๑๑๕๐ – ๑๒๐๐
     ๓.     ศิลปะแบบไพรกเมง  ราว พ.ศ. ๑๑๓๕ – ๑๒๕๐
     ๔.     ศิลปะแบบกำพงพระ  ราว พ.ศ. ๑๒๕๐ – หลัง พ.ศ. ๑๓๕๐

สมัยที่ ๒ ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ

     ๕.     ศิลปะแบบกุเลน  ราว พ.ศ. ๑๓๗๕ – ๑๔๒๕

สมัยที่ ๓ สมัยเมืองพระนคร  แบ่งออกเป็น ๙ แบบ คือ

     ๖.      ศิลปะแบบพะโด  ราง พ.ศ. ๑๔๒๕ – หลัง พ.ศ. ๑๔๓๖
     ๗.     ศิลปะแบบบาแค็ง  หลัง พ.ศ. ๑๔๓๖ – ราว พ.ศ. ๑๔๙๓
     ๘.     ศิลปะแบบเกาะแกร์  พ.ศ. ๑๔๙๐ ราว พ.ศ.๑๔๙๕
     ๙.      ศิลปะแบบแปรรูป  ( ระยะหลังหัวเลี้ยวหัวต่อ ) พ.ศ.๑๔๙๐ – ราว พ.ศ. ๑๔๙๕
     ๑๐. ศิลปะแบบบันทางไสรย พ.ศ. ๑๕๑๐ – ราว พ.ศ. ๑๕๕๐
     ๑๑. ศิลปะแบบเกลียง  พ.ศ. ๑๕๑๕ –  รวม ๑๕๖๐
      ๑๒.ศิลปะแบบ ปาปวน พ.ศ. ๑๕๖๐ – พ.ศ. ๑๖๓๐
      ๑๓. ศิลปะแบบนครวัด พ.ศ. ๑๖๕๐ – พ.ศ. ๑๗๑๕

      ๑๔.ศิลปะแบบบายน  พ.ศ. ๑๗๒๐ – พ.ศ. ๑๗๘๐

สมัยที่ ๔  สมัยหลังเมืองพระนคร ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๗๘๐ – พ.ศ.๑๗๗๔

     อย่างไรก็ตาม  โบราณสถาน  โบราณวัตถุต่างๆ  ที่ๆได้รับอิฐพลศิลปะเขมรในดินแดนประเทศไทยนั้น  มิได้พบศิลปะทุกแบบดังที่พบในเขมร  ด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองการปกครองของอาณาจักรเขมรเอง  ระยะใดที่ภายในประเทศมีการปกครองที่เข้มแข็งก็จะแผ่อำนาจหรือแผ่อิทธิพลทางศิลปกรรมเข้ามา  แต่เมื่อใดที่เกิดความไม่สงบในอาณาจักรแล้ว  การเผยแพร่ต่างๆก็เว้นว่างหรือลดลงไปด้วย  ดั้งนั้นเราจึงพลรูปแบบศิลปะเขมรในประเทศไทยเพียงไม่กี่ยุคสมัยซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว  โบราณวัตถุสถานในเขตภาคอีสานใต้   นั้น  ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร  แบบบาปวน  นครวัด  และบายน  อันตรงกับพระมหากษัตริย์กัมพูชา  ๓  พระองค์  คือ  พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๑   พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๒  พระเจ้าสุริยวรมันที่  ๗   ซึ่ง  มีอำนาจเหนือดินแดนนี้เป็นอย่างมาก  การกำหนดอายุโบราณในสมัยนี้จึงถูกต้องเป็นส่วนใหญ่  แต่ทั้งนี้ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดปลีกย่อยของโบราณสถานในแต่ละหลังประกอบกันด้วย  จะช่วยให้การกำหนดอายุและการลำดับสมัยการก่อสร้างชัดเจนขึ้น
     สำหรับการกำหนดอายุปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  อันเป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐ  ๒  หลังและก่อด้วยศิลาปนอิฐอีก ๑ หลัง  ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน  โดยมีศิลาทรายเป็นองค์ประกอบบริเวณกรอบประตู  ทับหลัง  ละเสาประดับกรอบประตู  ซึ่งลักษณะแผนผังทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้  เราสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้กับโบราณสถานในที่อื่นๆ  เช่น  ปราสาทยายเหงา               ปราสาทศรีขรภูมิ   จังหวัดสุรินทร์  นอกจากนี้การกำหนดอายุโบราณสถานยังสามารถศึกษาได้จากส่วนประกอบทับหลัง  เสาประดับกรอบประตู  รูปเคารพต่างๆ  เศษภาชนะดินเผาหรือเครื่องถ้วยเขมรรวมทั้งนาคกลีบขนุนและโบราณวัตถุต่างๆที่พบระหว่างการขุดแต่ง  ดังจะได้อธิบายรายละเอียดในลำดับต่อไป

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

     ปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  ประกอบด้วยปรางค์ ๓ หลัง  ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน  ปรางค์หลังทิศเหนือ  เป็นปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงจนถึงกลางองค์  จากนั้นจึงใช้อิฐก่อไปจนถึงยอด  ปรางค์หลังทิศใต้และหลังกลาง  เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ  ปรางค์ทั้ง ๓ หลังใช้ศิลาทรายเป็นส่วนประกอบ  ส่วนบริเวณทับหลังกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตู  ลักษณะแผนผังของฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ย่อมุมเฉพาะทางเข้าปรางค์องค์กลาง  สำหรับปรางค์ทั้ง ๓ หลังนั้นมีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว  ส่วนอีก ๓ ด้าน  ทำเป็นประตูหลอก  ส่วนชั้นหลังคาก็จำลองรูปแบบลดหลั่นกันขึ้นไป  อันเป็นลักษณะโดยทั่วไปของแผนผังปรางค์อิฐในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖  จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗  (Jean  Bosselier, ๑๙๖๖)  สำหรับลักษณะของปรางค์ที่มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้านั้น  ในประเทศกัมพูชาได้เริ่มขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖  คือ  มีห้องเล็กๆยื่นเป็นมุข  ออกมาทางด้านหน้าและทางเข้าก็อยู่ที่มุขดังกล่างนี้เอง

ทับหลังแผ่นที่ ๑

     เป็นชินส่วนทับหลังประดับประตูปรางค์องค์ทิศใต้  โดยจำหลังเป็นภาพพระนารายณ์สี่กร  คือ  สังข์  จักร  คธา  และดอกบัว  ยืนอยู่บนปีกครุฑนั้น  ก็ยืนเหยียบอยู่บนหลังสิงห์ ๒ ตัว  ที่หันหลังให้กัน  สิงห์ทั้ง ๒ ตัว  คายท่อนพวงมาลัยออกมา  โดยใช้มือยึดจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วย  ที่ปลายท่อนพวงมาลัยนั้นจำหลักภาพเทวดาบนคราชออกมาเห็นในด้านข้าง ๓ เศียร
     ส่วนแถวบนทับหลังจำหลักภาพเทวดาในท่าฟ้อนรำ  ประกอบอยู่ ๒ ด้านด้านละ  ๓  องค์  ทั้งพระนารายณ์  และเทวดาเหล่านี้จะอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว  และริมสุดของภาพจำลองแถวบน  มีภาพเทวดานั่งอีกด้านละ  ๑  องค์
     ลักษณะการนั่งของพระนารายณ์หรือพระวิษณุนั้น  จะนุ่งผ้าเว้าลงใต้สะดือ  มีชายผ้าปล่อยยาวลงด้านหน้าหยัก  ๓  ชั้น  จากรูปทรงทางกายวิภาคประกอบกับการจำหลัก  ผ้านุ่งและท่าทางอย่างง่ายสมามรนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับภาพจำหลักทับหลังที่ปราสาทหินพิมายซึ่งเป็นภาพโดยเฉพาลักษณะของผ้านุ่งนั้นเองส่วนภาพจำหลักเทวดานั้น  สลักนุ่งเว้าลงใต้สะดือ  ชายผ้าโค้งยาวออกด้านข้างและมีด้านแหลมยกขึ้นเล็กน้อย  เทวดาเหล่านี้อยู่ในท่าเคลื่อนไหวฟ้อนรำ  สวมหมวดทรงกรวย
     สำหรับท่อนพวงมาลัยที่สิงห์คาบออกมานั้น  จำหลักเป็นลายกลีบบัวหรือบัวบานหันเข้าหากันเป็นคู่ ๆ  แต่ละคู่คั้นด้วยเส้นลวดบัว  ใต้ท่องพวงมาลัยนี้จำหลักเป็นลายก้านขด  หรือใบไม้ม้วนขนาดใหญ่จนเต็มพื้นที่

ทับหลังแผ่นที่  ๒

     เป็นทับหลังเหนือกรอบแผ่นปรางค์องค์ทิศเหนือ  จำหลักภาพเกี่ยวกับ เรื่อง  รามเกียรติ์  ตอน พระราม พระลักษมณ์ถูกศรนาคบาศรัด  คล้ายกับทับหลังที่ประตูมุขของมณฑปด้านทิศตะวันตก  มีภาพฝูงลิงเป็นจำนวนมาก  ประกอบจนเต็มพื้นที่ฝูงลิงเหล่านี้แสดงความเคลื่อนไหวและและแสดงอาการเศร้าสลดอย่างเห็นได้ชัดโดยมีหลักลายก้านขด  หรือใบไม้ม้วนประกอบอยู่ด้วย  นอกจากนี้ยังจำหลักเป็นภาพ   บุคคลหรือเทวดาเหาะ  ทั้งองค์พระราม และ พระลักษมณ์ จำหลักในท่านอนที่ติดกันมีศรนาคบาศรัดตลอดตัว  และที่ด้านบนศรีละพระรามพระลักษมณ์มีภาพสตรีในท่านั่ง  ซึ่งคงเป็นนางสีดา มเหสีของพระรามนั้นเอง
     จากรายละเอียดขององค์ประกอบทับหลังซึ่งสลักภาพในลักษณะเต็มพื้นที่  เราสามารถกำหนดอายะได้จากลวดลายจำหลักทับหลังแผ่นนี้ได้ว่ามีอายุในศิลปะเขมรแบบนครวัด  ประมาณ  พ.ศ. ๑๖๕๐  ๑๗๒๐  ปัจจุบันทับหลังแผ่นนี้ได้ว่ามี  อายุในศิลปะเขมรแบบนครวัด  ประมาณ พ.ศ. ๑๖๕๐ ๑๗๒๐  ปัจจุบันทับหลังแผ่นที่ ๑  และ  ๒  เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ทับหลังแผ่นที่  ๓    ( ไม่ปรากฏหลักฐานทางวัตถุ )

     ทับหลังแผ่นที่ ๓  เป็นทับหลังประตูปรางค์ประธานหรือปรางค์กลาง  โดยจำหลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณยืนอยู่บนแท่นซึ่งวางอยู่เหนือหน้ากาลหรือเกียรติมุขหน้ากาลนี้จะแยกเขี้ยวคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง ๒ ข้าง  ลักษณะของท่องพวงมัยจำหลักรูปกลีบบัวผสมผสานก้านขด  ที่ปลายลายใบไม้ม้วนประกอบจนเต็ม
     สำหลับพระอินทร์นั้นประทับนั่งบนหลังช้าง  มีภาพจำหลักควาญช้าง ท้าย  และมีลักษณะคล้ายกลดกั้น  เป็นที่น่าสังเกตว่า  ภาพจำหลักที่ประกอบอยู่แถวบนนั้นทั้งสองข้างจะจำหลักไม่เหมือนกัน  คือ  ด้านซ้ายนั้นเป็นภาพเทพฟ้อนรำอยู่ภาพในซุ้มซึ่งมีขนาดองค์ใหญ่กว่าส่วนขวาเป็นภาพเทวดาอีก  ๒  องค์  ในท่าฟ้อนรำภายในซุ้ม  ลักษณะของซุ้มก็มีความแตกต่างกันทั้ง ๒ ด้าน
     จากลักษณะลวดลายของทับหลัง  เราสามารถกำหนดอายุเปรียบเทียบได้กับศิลปะเขมรแบบนครวัด  ราวพุทธศตวรรษที่   ๑๗  ตอนต้น  โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรแบบบาปวนอีกด้วย

เสาประดับกรอบประตู

     เสาประดับประตูกรอบประตูที่ปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  ปัจจุบันยังติดอยู่กับปรางค์องค์ทิศใต้  ลักษณะลวดลายของเสาประดับกรอประตูคล้ายคลึงกับเสาประดับกรอบประตูปราสาทหินพิมาย  คือ  เป็นเสาเหลี่ยมมีเครื่องประดับตกแต่งมากจำหลักลวดลายต่างๆ  เช่น ลายกลีบบัว  ลายใบไม้เล็กๆคล้ายฟันปลา  ลายเกสรบัว  ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน  หรือ  ลายประจำยาม  ลักษณะเสาประดับกรอบประตู  จัดอยู่ในสมัยนครวัดตอนต้น

คานรองรับซุ้มหน้าบัน

     ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์  สถานแห่งชาติ  พิมาย  ลักษณะคานรองรับบริเวณปลายสุดทำเป็นเศียรนาค ค เศียร  ตัวคานจำหลักลวดลายเป็นหัวเพราคาย   เศียรนาคอยู่ทั้ง  ๒ มุม  แนวคานที่รองรับจำหลักลวดลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน   หรือลายประจำยามเป็นแถวยาวคั่นด้วยลายนูนลูกประคำ สลับด้วยลายกลีบบัว  และบายเกสรบัว
     ตัวเสาที่รองรับคานนั้น  ลักษณะเสาเป็นสี่เหลี่ยม  ส่วนยอดเขาเป็นชั้นหน้ากระดานจำหลักลวดลายเป็นลายประจำยามและลายกลีบดอกไม้  ใต้ลงมาคือส่วนชั้นบัวหงายจำหลักลายพรรณฤกษา  ลายใบไม้ม้วน  และยังสลักรูปครุฑขนาดเล็กในท่าแบกหัวเสาอยู่ตรงมุมด้วย  ชั้นต่อลงมาจกหลักเป็นลายดอกบัวเรียงต่อกันรอบเสา
     ลักษณะของเศียรนาคที่ประกอบคานรองรับหน้าบันของปรางค์  จังหวัดสรีสะเกษนี้มีความคล้ายคลึงกับเศียรนาคที่ปราสาทหินพิมาย คือ  เศียรนาคตรงกลางจะมีขนาดใหญ่สุด คายพวงอุบะเป็นลายกนก  หน้าของนาคนั้นค่อนข้างดุร้ายและน่ากลัว  มีตาโตโปนและแยกเขี้ยว  บริเวณหน้าอกจำหลักรุปดอกบัวกลม
     ลักษณะของเศียรนาคประกอบคานรองรับหน้าบันนี้  จัดอยู่ในศิลปะแบบนครวัดตอนต้น  ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่  ๑๗  นั่นเอง
     เมื่อทำการศึกษาถึงลายละเอียดของส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม  ที่ปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  รวมทั้งโบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถาน  เช่น เศษภาชนะ  ดินเผา  เศษกระเบื้องมุมหลังคา  นาคกลีบขนุนปรางค์  รวมทั้งลักษณะการก่อสร้าง  ซึ่งหลักฐานต่างๆเหล่านี้  นำมาช่วยในการกำหนดอายุ  ปรางค์กู่ได้ว่า  สร้างขึ้นในพุทธสตวรรษที่  ๑๗  ตอนต้น  ในศิลปะเขมรแบบนครวัด  และยังสามารถศึกษาได้กับปราสาทหินพิมาย  จังหวัดนครรา๙สีมา,ปราสาทศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์  เป็นต้น  ซึ่งอายุใกล้เคียงกัน

 สรุปผลการขุดแต่งปรางค์กู่

บ้านกู่  อำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ

ที่ตั้ง

     ปราสาทปรางค์กู่  ตั้งอยู่ที่บ้านกู่  ตำบลปรางค์กู่  อำเภอภู่  จังหวัดศรีสะเกษ  อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔  ๑๕  ๕๕  เหนือ และเส้นแวงที่  ๑๐๓  ๕๗  ๔๙  ตะวันออก  (กรมแผนที่ทหาร  ระวาง  ๕๗๓๘ ลำดับชุด  ๗๐๗๑  พิมพ์ครั้งที่  ๒  RTSD)
     สภาพหมู่บ้านกู่  เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินลิอมรอบทางทิศตะวันออกทิศใต้และทิศตะวันออก  ส่วนทางทิศเหนือเป็นสระขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาด  ๓๕๐๗๐๐  เมตร  พื้นที่ภายในเมืองโบราณมีบ้านเรือนปลูกอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น  บริเวณรอบนอกเมืองโบราณเป็นทุ่งนาเพาะปลูกข้าว  ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ  ๙๐๐  เมตร  เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์กู่  ซึ่งมีสระใหญ่ดังกล่าวอยู่ทางด้านหน้าปราสาทห่างออกไป  ๒๐๐  เมตร

สภาพทั่วไปก่อนการขุดแต่ง    

     ปรางค์กู่ เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในศิลปะแบบเขมร  ตั้งอยู่บนที่เนินสูงกว่าโดยรอบเป็นทุ่งนาเพาะปลูกข้าว  พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางสระใหญ่  ที่อยู่ทางทิศตะวันออก  บริเวณกึ่งกลางของพื้นที่เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์กู่  ประกอบด้วยปราสาท  ๓  หลัง  ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง  คือ

     ๑.ปราสาทอิฐหลังใต้

    มีสภาพทรุดเอียงไปทางทิศตะวันตก  มีเรือนธาตุและมีส่วนยอดค่อนข้างสมบูรณ์กว่าหลังอื่นๆ  ยังคงเห็นเสาประดับกรอบประตูอยู่คู่หนึ่งและส่วนฐานอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเพียงเล็กน้อย  ทางด้านหน้าและด้านทิศใต้  ซึ่งด้านต้นมะค่าขนาดใหญ่ขึ้นแทรกอยู่บนศิลาแลงและต้นหนึ่ง  ส่วนด้านอื่นถูกับถมด้วยกองอิฐโดยเฉพาะพื้นที่ระหว่างปราสาทหลังนี้กับปราสาทอิฐหลังกลางมีอิฐทับถ่มกึ่งกลางประตูหลอก

     ๒.ปราสาทอิฐหลังกลาง

   ส่วนเรือนธาตุมีสภาพหักพังโดยเฉพาะทางด้านหน้าส่วนหน้าบันจนถึงส่วนยอดพังหายไปหมดเกลือสภาพให้เห็นเป็นช่องว่างมองทะลุไปผนังด้านหลังได้บริเวณด้านหน้าอาคารทับถมด้วยดินปนอิฐลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกไม่สามารถเห็นฐานศิลาแลงส่วนทางด้านหลังมีการทับถมของดินและอิฐน้อยยังคงเห็นฐานศิลาแลงช่วงตัวเป็นชั้นเช่นเดียวกับฐานศิลาแลงของปราสาทหลังใต้  ต่างกันที่บานศิลาแลงชั้นล่างร่องรอยของก่อแลงเว้าเข้าตรงกับประตูหลอกทางด้านทิศตะวันตก

     ๓.ปราสาทก่อด้วยศิลาแลง

  ส่วนเรือนธาตุก่อด้วยศิลาแลง  สภาพแตกร้าวทั้งหลังส่วนหน้าบันและส่วนยอดพังทลายมาก  บริเวณด้านหน้ามีดินปนอิฐทับถมอยู่น้อยกว่าปราสาทหลังอื่นๆพบฐานศิลาแลงเรียงเป็นแนวฐานจนถึง  ด้านหลังอาคราซึ่งเป็นด้านที่มีการทับถมของดินปนอิฐมากกว่าบริเวณด้านหน้า
     ปราสาททั้ง  ๓  หลังดังกล่าวนี้  ถูกทับถมด้วยอิฐและดินส่วนใหญ่อยู่บริเวณตรงกลางปราสาทและลาดเอียงกว่าด้านหน้า  มีพวกเศษพวกหินทรายและหินแลงทับถมปนอยู่ด้วย  แต่ส่วยใหญ่ถูกเคลื่อนย้ายรวมเป็นกองอยู่ด้านหน้าปราสาทซึ่งมีต้นมะค่าขนาดใหญ่ขึ้นอยู่บริเวณกึ่งกลางของพื้นที่  หากออกไปทางด้านหน้ามีต้นไม้ปกคลุมอยู่ทั่วไป   โดยเฉพาะต้นไผ่ที่เจริญเติบโตอยู่ตามแนวคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบปราสาทอยู่บริเวณด้านหลังปราสาทมีต้นมะค่าปกคลุมอยู่หนาแน่น  หากออกไปมีคูน้ำซึ่งเชื่อมต่อมาจากด้านหน้าของปราสาทโดยเว้นช่องว่างตรงกับปราสาทหลังกลางเป็นทางเดิน  อกไปทางทิศตะวันตก  ทำให้แนวคูล้อมรอบปราสาทนี้มีรูปเป็นตัวยูประกอบกันในแนวนอน

การขุดแต่ง         

     เนื่องจากปราสาทปรางค์กู่  มีเฉพาะกลุ่มปราสาท  ๓  หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกันซึ่งมีความกว้างยาวประมาณ  ๙.๒๔  เมตร  จึงวางผังขุดหลุมแต่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคลุมพื้นหลุมขุดแต่งทั้งหมด  โดยใช้มุมฐานศิลาแลงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้  เป็นจุดกำหนดตายตัว (O  FIXED   POINT)  จากจุดนี้ได้วางเส้นแกน  (BASE  LINE)  ในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้แบ่งเส้นแกนออกเป็นระยะๆ  ละ  ๖    เมตร  กำหนดเป็นตัวเลข  ๑,๒,๓...,๕  และเส้นแกนในแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก   เป็นเส้นแกนออกเป็นระยะๆ  ละ ๖  เมตร  เช่นเดียวกันได้กำหนดเป็นตัวอักษร  ,B,  C,และD  ตามลำดับ
     วิธีการดำเนินการขุดแต่งได้ตรวจชั้นดินหนึ่งคลุม   บริเวณพื้นที่  ๓  ขนาด  ๑.๒  เพื่อหาแนวฐานโบราณสถานและการศึกษาชั้นดินการสร้างโบราณสถานหลังจากนั้นได้ขุดแต่งนำเอาดินปนอิฐออกจากโบราณสถานในพื้นที่ต่างๆ  ตามชั้นดินธรรมชาติภายหลังจากการขุดตรวจแล้วและจากขุดตรวจสามารถแบ่งชั้นดินธรรมชาติออกเป็น  ๔  ชั้นคือ
     ชั้นดินธรรมชาติที่  ๑  เป็นชั้นดินที่ทับถมในปัจจุบัน   ดินร่วมปนทรายมีเศษหินปนอยู่เล็กน้อย
     ชั้นดินธรรมชาติที่  ๒  เป็นชั้นการทับถมของอิฐขนาดใหญ่มีทั้งอิฐที่สมบูรณ์และอิฐที่แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นชั้นขนาดตลอดพื้นที่  คงเป็นชั้นที่เกิดจากการหักพังของปราสาทลงมาทับถมกันอยู่
     ชั้นดินธรรมชาติที่ ๓  เป็นดินร่วนมีสีน้ำตาลมีเศษอิฐขนาดเล็ก  ปนอยู่มากมีเศษอิฐขนาดใหญ่ปนอยู่เล็กน้อยแทรกอยู่ช่วงกลางของชั้นดินและพบเศษถ่านปะบน
     ชั้นดินธรรมชาติที่  ๔  เป็นชั้นดินทรายอัดแน่นไม่พบวัตถุใดๆ  ใช้เป็นชั้นรองรับศิลาแลงที่เป็นฐานรากของปราสาท

โบราณวัตถุ

     โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งปรางค์กู่   มีทั้งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  ได้แก่  พวกเศษภาชนะดินเผา  เครื่องมือเหล็กตัวไอ  และเครื่องมือประกอบสถาปัตยกรรม  พวกกลีบขนุนปรางค์   ส่วนยอดปรางค์เป็นต้น
     ๑. เศษภาชนะดินเผา ที่พบไดแก่ภาชนะเครื่องดิน สีส้มสีขาวอมส้มผิวละเอียดนิยมประดับลวดลายเป็นเส้นหรือขูดเป็นร่องขนานรอบภาชนะ องค์ประกอบในเนื้อภาชนะ เนื้อดิน ค่อนข้างละเอียด มีดินเชื้อผสมอยู่มากและมีเม็ดทรายละเอียดปน
     ภาชนะเนื้อเครื่องเคลือบ   มีทั้งเคลือบด้วยสีน้ำตาล   สีน้ำตาล  สีน้ำตาล  ไหม้และเคลือบสีเขียวอ่อน  พวกที่เคลือบด้วยสีน้ำตาลมักมีรายชี่หวี่ประดับ  ส่วนมากเคลือบสีเขียวอ่อนมักมีเฉพาะลายขูดเป็นร่องขนาน  ตกแต่งลวดลายที่ส่วนฐานภาชนะ

     ๒.  เครื่องประกอบสถาปัตยกรรม  ที่พบได้แก่  กลีบขนุนปรางค์รูปนาค    เศียร  มีเศียรใหญ่อยู่ตรงกลาง  คายท่อนพวงมาลัยออกมา  เศียรขนาดเล็กอยู่ด้านละเศียร  มีกระบังหน้าต่อเป็นพื้นเดียวกันตลอด  แผ่นหินรูปคล้ายใบเสมาขนาดเล็กๆ  มีเดือยสำหรับปกบนตัวอาคารแผ่นหินสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงกลางเจาะรูขนาด    เซนติเมตร  สลักแผ่นหินเป็นร่องลึกรูปกากบาท  แต่ส่วนเจาะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ  เพื่อบรรจุสิ่งขิงมีค่า   แผ่นหินดังกล่าวนี้จะมีแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเดียวกันปิดทับส่วนบนอีกที  จึงมีส่วยยอดบัวตูมวางทับเป็นชุดของส่วนบัวยอดปราสาท

สรุป

     ผลจากการตกแต่งปรางค์กู่   ทำให้ทราบว่าปรางค์กู่ประกอบด้วยปราสาทก่ออิฐ  ๒  หลัง  และปราสาทก่อแลงหลังหนึ่งรวมเป็น  ๓  หลัง  ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงร่วมกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกที่มีสระขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า  ผลจากการขุดตรวจชั้นดินพบว่าสิลาแลงดังกล่าวนี้มีหินแลงก่อเป็นฐานเหนือชั้นทรายก้อนหนึ่ง  จากนั้นจึงใช้หินแลงก่อเป็นฐานเขียงและฐานบัวตามลำดับ  ฐานบัวที่พบค้อนข้างสมบูรณ์มากมีเพียงบางส่วนคือบริเวณด้านหน้าและมีมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ เท่านั้นที่พังลงเนื่องจากมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นแทรกอยู่
     ฐานบัวที่ก่อด้วยฐานศิลาแลงมีขนาดใหญ่มากประกอบด้วยหน้ากระดานล่างบัวคว่ำ,หน้ากระดานห้องไม้ไม่มีลวดลายบัวประดับ, บัวหงายและหน้ากระดานบน  ชุดฐานบัวนี้ไม่มีสลักลวดลายประดับ   ที่กึ่งกลางฐานบัวทางด้านหน้าปราสาทและด้านหลัง  ก่อศิลาแลงเป็นบานย่อมุมยืนออกมาด้านหน้า  ตรงกลางก่อด้วยศิลาเว้าเข้าเป็นบันไดทางขึ้นตรงกลางกับปราสาทหลังกลาง
     บนฐานบัวเป็นที่ตั้งของปราสาทสวมหลังนี้ช่างได้ใช้ศิลาแลงก่อเป็นฐานรองรันเรือนธาตุอีกชั้นหนึ่งก่อนจึงก่อเรือนธาตุขึ้นไป  โดยก่อเป็นมุมที่สัมพันธ์กับเรือนธาตุฐานดังกล่าวนี้ได้ทรุดตัวมากแต่ยังเห็นเทคนิคการก่อสร้างได้ดี 
     เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ – ๒๕๐๔  ยังคงศิลาทรายจำหลักทับหลังที่ปรางค์กู่อยู่ ๓ แผ่น  คือ  ทับหลังจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอยู่เหนือหลังเสาประดับกรอบประตูทางทิศใต้ทับหลังจำหลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  เหนือกรอบประตูปรางค์องค์กลางและทับหลังจำหลักรูปพระรามพระลักษณ์ต้องศรนาคบาศเหนือกรอบประตูทางทิศใต้  ที่กรอบประตูเข้าปรางค์ทั้ง ๓ หลังยังมีเสาประดับกรอบประตูประดับอยู่ทุกหลังสภาพสมบูรณ์มีเครื่องประดับมากที่ช่องว่างเหนือวงแหวนมีใบไม้เล็กๆ  ประดับอยู่โดยเฉพาะปรางค์ทิศเหนือมีเสาอิงกรอบประตูอิงจำหลักเป็นรูปสตรีอยู่ทางทิศตะวันออก  อยู่ในท่ายืนถือบัว  สวมเครื่องแต่งประดับกรอบประตูและเสาอิงกรอบประตูจากปรางค์หลังต่างๆ  สูญหายไปจากปรางค์เหล่านี้  ยังคงเหลือเฉพาะเสาประดับกรอบประตูของปรางค์ทิศใต้เท่านั้นภายหลังจากการขุดแต่งได้พบส่วนหัวเสาด้านล่างสลักเป็นรูปบุคคลกำลังเดินภายในซุ้ม  มือขวาหิวหม้อน้ำ  มือซ้ายยกขึ้นทับทรวงอก  คล้ายท่าแสดงเคารพได้ค้นพบกลีบขนุนประดับยอดปรางค์  เป็นรูปนาคสามเศียร  เศียรที่อยู่ตรงกลางคายท่อนพวงมาลาออกมา  กลีบขนุนแบบนี้ได้พบเช่นกันที่ปราสาทที่ศีขรภูมิ  รวมทั้งรูปแบบของเสาอิงกรอบประตูซึ่งสลักรูปสตรีอยู่ด้านหน้าและรูปทวารบาลอยู่ด้านข้าง  เช่นเดียวกันแล้วทำให้พอคะเนได้ว่าปรางค์กู่หลังเหนือคงมีอายุร่วมสมัยเดียวกัน  อย่างไรก็ดีจากการศึกษารูปแบบของศิลปะจากการทับหลังชิ้นอื่น  สันนิษฐานว่า  ปรางค์นี้คงมีอายุในสมัยนครวัดตอนต้น  มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่  ๑๗  และคงให้อิทธิพลแก่ปราสาทรุ่นหลังต่อมา  เช่นปราสาทศีขรภูมิดังกล่าวข้างต้น
     สำหรับชั้นดินวัฒนธรรมที่ปรางค์กู่นั้นแบ่งออกเป็น  ๒  สมัยคือ  สมัยแรกเริ่มเป็นชั้นดินที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ไม่ได้พบชั้นดินการอยู่อาศัย  ยอกจากชั้นดินที่แสดงเห็นถึงการก่อสร้างปราสาท  อาจเนื่องจากมีชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคูน้ำคันดินเป็นที่อยู่อาศัยอยู่แล้วในบริเวณใกล้เคียงการสร้าง ศาสนสถานจึงเพียงแต่เข้าไปปรับปรุงพื้นที่การก่อสร้างเท่านั้น

     ชั้นดินวัฒนธรรมสมัยที่  ๒  ได้แก่ชั้นดินธรรมชาติที่  ๒,๑  ชั้นดินที่มีการทับถมของเศษอิฐและส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมมาก  ชั้นดินธรรมชาติสมัยนี้เป็นระยะที่ปราสาทพังทลายมากจนกระทั่งถูกปกคลุมด้วยธรรมชาติและชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยในปัจจุบันได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ในที่สุด  นอกจากนี้ได้ทำการค้ำยันโบราณสถาน  ซึ่งมีส่วนต่างๆเป็นจุดอันตรายมากได้แก่ปรางค์องค์กลางที่ทีส่วนเรือนธาตุและส่วนหน้าบันพังทลายลงมามากนั้นได้แบ่งการค้ำยันออกเป็น  ๒ จุด  คือจุดแรก  ได้ค้ำยันส่วนเรือนาตุที่อยู่ติดกับกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือสภาพเป็นผนังก่ออิฐที่แตกหักแยกตัวออกมามาก   ได้ใช้ไม้เป็นโครงในการค้ำยันและจุดที่สองเป็นส่วนเรือนธาตุที่อยู่ติดกับกรอบประตูทางทิศใต้  สภาพเป็นผนังก่ออิฐแตกร้าวตลอดแนวตั้งแต่ฐานจนถึงชั้นเชิงบาตรได้เสริมความมั่นคงโดยใช้สลิงรัดโดยรอบเพื่อป้องกันการแยกตัวของอิฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น